Accessibility Tools

A A A

messenger  facebook  youtube

Google Translate Widget by Infofru

Author Site Reviewresults

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2566

วันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น.  ณ ห้องประชุมตาปี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2566  โดยมีภาคส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกำหนดให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการปฏิรูปการบริหารและจัดการทางการศึกษา นำร่องการกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกการศึกษาภายใต้การทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานทางการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีสมัครเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องแล้ว จำนวน 94 แห่ง

นักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่า 142 ชีวิต บินตรงจากไต้หวัน ถึงสุราษฎร์ธานี เที่ยวแรก หลังโควิด-19 ท่ามกลางการต้อนรับ สุดอบอุ่น ด้านผู้ว่าฯ สุราษฎร์ เผย มีอีกหลายเที่ยวบินจากหลายประเทศ เจรจา จ่อบินเข้าสุราษฎร์ธานี

วันที่ 23 มกราคม 2566  เวลา 18.30 น.

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นางสาวนันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุราษฎร์ธานี ตลอดจนส่วนราชการ สมาคม ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ คณะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 142 คน ที่บินตรงจากไต้หวัน ถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี โดยคณะ ได้คล้องมาลัยดอกไม้ และมอบของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเปิดเผยว่าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำเที่ยวนี้เป็นเที่ยวบินบินตรงจากต่างประเทศ มายังท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี เที่ยวแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด 19 จึงได้จัดกิจกรรมต้อนรับอย่างอบอุ่น และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ทั้งบนฝั่งแผ่นดินใหญ่และพื้นที่เกาะ ที่ยังมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาสัมผัส และล่าสุดมีสายการบิน จากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย หรือเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากมณฑลต่างๆของประเทศจีนทยอยติดต่อ เพื่อบินตรงมายังสุราษฎร์ธานี อย่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมีเที่ยวบินจากเฉิงตู นำนักท่องเที่ยวบินตรงมาเกาะสมุย ซึ่งได้เตรียมจัดกิจกรรมต้อนรับ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ร่วม 6 จังหวัดภาคใต้ หามาตรการควบคุมการรับซื้อปาล์มคุณภาพ ยกระดับราคาทั้งระบบ

วันที่ 23 มกราคม 2566  ณ ห้องเมืองคนดี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ในการหารือแนวทางการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทั้งระบบ ร่วมกับ ผู้แทนจาก 6 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน แถวหน้าของประเทศ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง และพังงา เพื่อหามาตรการร่วมกันในการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เพื่อป้องกันปัญหาการติดคิวรับซื้อยาว จนผลผลิตเสียหาย เหมือนช่วงหยุดยาวปีใหม่ 2566 รวมถึง กำหนดมาตรการควบคุมการรับซื้อปาล์มน้ำมันคุณภาพ เพื่อยกระดับเปอร์เซ็นต์การสกัดน้ำมัน ให้เกิน 18% ป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เพิ่มรายได้และมูลค่าการสกัดน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยเทียบเคียงจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ สุราษฎร์ธานี โมเดล เมื่อปี 2561
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในปี 2561 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ เกษตรกร ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงได้บูรณาการหน่วยงานทั้ง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฝ่ายปกครอง และใช้อำนาจของกอ.รมน. และ มณฑลทหารบกที่ 45 ในการกำกับดูแล การรับซื้อปาล์มสุก ได้คุณภาพ ทำให้สามารถยกระดับราคารับซื้อผลปาล์มได้เกิน 18% เพิ่มมูลค่าให้ราคาปาล์มน้ำมันได้ตันละ 300 บาท คิดเป็นรายได้ถึงเกษตรกรกว่า 1,700 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมาย หรือ ระเบียบที่ชัดเจน ในการกำกับดุแลเรื่องดังกล่าว
ด้าน นายวีระกร คำประกอบ ระบุว่า คณะกรรมาธิการ ตลอดจน ผู้เข้าร่วมประชุม เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลการรับซื้อ ที่ลานเท ซึ่งคณะกรรมธิการฯ จะเร่งผลักดันให้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เร่งออกกฎระเบียบ เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปบังคับใช้ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ร่วม 6 จังหวัดภาคใต้

วันที่ 23 มกราคม 2566

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ในโอกาสลงพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ร่วมกับ 6 จังหวัดภาคใต้ โดยมีนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ
จากนั้น คณะกรรมาธิการ ได้ลงพื้นที่บริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด อำเภอท่าฉาง เพื่อหารือถึงปัญหาอุปสรรคเรื่องการบริหารจัดการปาล์มทั้งระบบ หลังช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหารถขนส่งปาล์มน้ำมันต้องรอคิวส่งผลผลิตเข้าโรงงานสกัดนาน รวมถึงปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ร่วมกับ นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ผู้บริหารกลุ่มบริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งทางผู้ประกอบการยืนยันว่า เป็นภาวะที่ปาล์มออกมาพร้อมกัน หลังช่วงหยุดยาวปีใหม่ แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ก็เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนเรื่องราคาผลผลิต เป็นไปตามกลไกและความต้องการของตลาด แต่โรงงานมีการเพิ่มส่วนต่างให้เกษตรกรที่ทำปาล์มคุณภาพ หรือมีมาตรฐาน RSPO ซึ่งหากเกษตรตัดปาล์มคุณภาพ เหมือนช่วงที่ทำ สุราษฎร์โมเดล ราคารับซื้อก็จะสูงขึ้น และยังลดเวลาการคัดปาล์ม และลดจำนวนการส่งปาล์มไม่ได้คุณภาพคืน จากนั้น คณะ ได้สุ่มตรวจ ลานเท รับซื้อปาล์มแห่งหนึ่ง ระหว่างเส้นทาง และพบว่า ในลานเท มีปาล์มดิบ ไม่ได้คุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง จึงได้พูดคุยกับเจ้าของลานเท สอบถามสาเหตุที่รับซื้อปาล์มไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง ท่าเรือ pk มารีน เทรดดิ้ง ในเครือบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด เพื่อติดตามเรื่องสถานการณ์ด้านสต็อกน้ำมันปาล์มดิบและการส่งออก ซึ่งปี 2565 มีการส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิด ประมาณ 340,000 ตัน บางช่วงที่ต่างประเทศงดส่งออก ปริมาณการส่งออกและราคาสูงขึ้น แต่เมื่ออินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มส่งออก ทำให้ตัวเลขการส่งกลับลดลง และในปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่า ยิ่งส่งผลต่อการส่งออก แต่รัฐบาลก็มีแนวทางจะสนับสนุนการส่งออกด้วยการชดเชย ค่าส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

Copyright © 2021  www.suratthani.go.th

AChecker accessibility checker compliance: WCAG 2.0 (Level AAA) Valid CSS!