สุราษฎร์ธานีจัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เพิ่มมูลค่างานหัตถกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 29 มีนาคม 2567
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้แก่นายอำเภอ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมจำนวน 70 ราย เพื่อนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงาน พัฒนาต่อยอดการผลิตผ้าและงานหัตถกรรม ตามอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ อาคาร ศูนย์กลางการประชุมสัมมนาภาคใต้ตอนบน ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
"ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" เป็นลายที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถ นำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่น ตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
ในโอกาสนี้ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานในพิธี ได้เปิดกระทงดอกไม้ ธูป เทียนแพ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระรูป และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้า ลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทำพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี และได้นำผู้เข้าร่วมพิธีฯ เยี่ยมชมนิทรรศการ "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก“ ในบริเวณพื้นที่จัดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะได้ดำเนินการและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ไปยังทุกอำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ช่างทอผ้าช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ด้วยสำนึกพระกรุณาคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริในการสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจกิจฐานราก อันยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”