วันที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 09.30 น.
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานฝ่ายวิชาการการนำเสนอสุราษฎร์ธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีจ่าเอกพิรพร อุลิตผล วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวแทนส่วนราชการ คณาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประชุม
การจัดสร้างและเปิดเช่าบูชา เหรียญพระบรมธาตุไชยา และ พระบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รุ่น 109 ปี สุราษฎร์ธานี มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเข้ามาแล้วจำนวนหนึ่งและกำลังรวบรวมรายได้จากแต่ละหน่วยงาน อำเภอ ที่นำวัตถุมงคลกระจายออกไปให้ประชาชนในแต่ละท้องที่ ควบคู่กับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสุราษฎร์ธานี 109 ปี สู่มรดกโลก โดยจะมีคณะกรรมการมูลนิธิจากหลายภาคส่วน เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ
ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องการจัดทำรายงาน เอกสารทางวิชาการ เพื่อยื่นต่อยูเนสโก ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น ขณะนี้ คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้กำหนดพื้นที่ศึกษาวิจัยขั้นต้น 3 จุดที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ได้แก่ พื้นที่ไชยา ซึ่งมีพระบรมธาตุไชยา วัดแก้ว เป็นศูนย์กลาง พื้นที่อำเภอพุนพิน มีโบราณสถานเขาศรีวิชัย และพื้นที่อำเภอเวียงสระ ได้แก่ เมืองโบราณเวียงสระ ซึ่งทั้งหมดมีหลักฐานความเชื่อมโยงกัน ทั้งในแง่ความเชื่อทางศาสนาพุทธ แบบมหายาน และ ศาสนาพราหมณ์ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการค้าขาย ในเส้นทางแม่น้ำตาปี ถึง อ่าวบ้านดอน ตลอดจน ประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครอง ที่สอดคล้องกัน โดยหลังจากนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ 3 ชุด โดยแต่ละชุดจะมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ร่วมเป็นคณะทำงานศึกษา ค้นคว้า หลักฐานและเขียนรายงานของแต่ละพื้นที่มาเชื่อมโยงกัน