วันที่ 26 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น.
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลการจัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยวิธี Management Chart ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม 3 โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามและรับทราบประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 – 2568 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงพิจารณาตรวจสอบร่างรายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำไตรมาสที่ 4/2567 โดยให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การวิเคราะห์ข้อมูลรายงานจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ เศรษฐกิจด้านการผลิต (Supply) เศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย (Demand) เศรษฐกิจด้านการเงิน/ด้านเสถียรภาพ และกปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวของด้านอุปทานและอุปสงค์ โดยภาคบริการ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20.7 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หมวดโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.09 จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสมุยเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 และภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าส่งค้าปลีก และบริการขนส่งสาธารณะ
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ การผลิตดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ทางด้านภาคเกษตรกรรม คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.6 โดยมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง มีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ขณะที่ในช่วงปลายปีเริ่มเข้าสู่ภาวะลานีญา ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง น้ำท่วมฉับพลัน นำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลึงในพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญปรับตัวลดลง